โหนดโรงเรียน
โหนดโรงพยาบาล
โหนดผู้ผลิต-ตลาดเขียว
โหนดผู้บริโภค
กิจกรรมโครงการ
รายชื่อภาคี
การเติบโตของสังคมเกษตรอินทรีย์ในหลายจังหวัดทางภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของผู้ผลิตและผู้บริโภคที่ไม่ได้แค่เพียงสร้างการเปลี่ยนแปลงในจานอาหารเท่านั้น แต่ยังสร้างรายได้ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่นตามไปด้วย
ที่ห้างสรรพสินค้าท้องถิ่นในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งชาวอุบลราชธานีเรียกกันติดปากว่า ‘ห้างสุนีย์’ นั้น คือช่องทางการเข้าถึงผลผลิตอินทรีย์จากเกษตรกรในจังหวัด ที่ทำงานร่วมกับโครงการพัฒนาอาหารปลอดภัยด้วยเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนเพื่อสุขภาวะที่ดีและเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ และโครงการกินสบายใจ ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิสื่อสร้างสุข เปิดพื้นที่ให้เครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์กินสบายใจ นำผลผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน PGS กินสบายใจมาจำหน่าย โดยเริ่มจากการจัดงานเทศกาลกินสบายใจ ห่างไกลโรค ครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2555 เพื่อสื่อสารเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างผู้ผลิต ผู้บริโภค และหน่วยงานของจังหวัดผู้สนับสนุนเกษตรกรอินทรีย์ จากนั้นก็ได้จัดเทศกาลกินสบายใจขึ้นทุกปี รวมถึงเปิดตลาดนัดสีเขียวกินสบายใจ ในซูเปอร์มาร์เก็ต ชั้น 1 ทุกวันเสาร์ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 กระทั่งพัฒนามาสู่การติดตั้ง ‘ตู้ผักกินสบายใจ’ เกิดร้าน ‘กินสบายใจช็อป’ ซึ่งเปิดขายวันศุกร์ถึงวันอังคาร และตั้งเป้าเปิดขายทุกวันในอนาคต พร้อมเปิดช่องทางจำหน่ายออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อผักสดๆ จากเครือข่ายได้ง่ายดายขึ้นด้วย
นอกจากห้างสุนีย์ซึ่งเป็นพื้นที่จำหน่ายผลผลิตอินทรีย์ของเกษตรกรจังหวัดอุบลราชธานีอย่างถาวรแล้ว กินสบายใจยังผลักดันให้เกิดตลาดสีเขียวในต่างอำเภอขึ้นในปี พ.ศ.2562 ได้แก่ตลาดกินดี อำเภอนาเยีย ตลาดสร้างสุขโรงเรียนบ้านคูเมือง อำเภอวารินชำราบ ตลาดสีเขียวโรงพยาบาลมะเร็ง และตลาดสีเขียวที่สวนสาธารณะห้วยวังนอง อำเภอเมืองอุบลราชธานี ซึ่งการขยายตัวของช่องทางกระจายผลผลิตนี้ เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันของหลายภาคส่วนของจังหวัดอุบลราชธานีทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม โดยมีมูลนิธิสื่อสร้างสุขเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนหลัก
คนึงนุช วงศ์เย็น ผู้จัดการมูลนิธิสื่อสร้างสุข ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาอาหารปลอดภัยด้วยเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนเพื่อสุขภาวะที่ดีและเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ และโครงการกินสบายใจ เล่าถึงปัญหาด้านเกษตรอินทรีย์และโภชนาการในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นที่มาของการเกิดโครงการว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรในจังหวัดอุบลราชธานีขาดการทำเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนและประสบปัญหาภัยพิบัติ รวมถึงขาดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่สอดคล้องกับท้องถิ่น ด้านผู้บริโภคเองก็ประสบภาวะทุพโภชนาการ และบริโภคอาหารไม่ปลอดภัย โครงการนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภัยพิบัติ โดยทำงานตลอดห่วงโซ่อาหาร
การทำงานพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในช่วงต้นนั้นยังมีความกระจัดกระจาย หมุดของการเปลี่ยนแปลงที่เห็นเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นเมื่อห้างสุนีย์ให้พื้นที่ในการจัดงานเทศกาลกินสบายใจ และเปิดตลาดนัดสีเขียวกินสบายใจขึ้นโดยเปิดกว้างสำหรับเกษตรกรจากทุกที่ หลังจากนั้น มาตรฐานมาตรฐาน PGS กินสบายใจก็ถูกพัฒนาขึ้นในปี พ.ศ.2560 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค
“PGS กินสบายใจมีลักษณะเฉพาะคือ เป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างหลายหน่วยงาน โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมเกษตรกรชาวบ้านที่ไม่ใช่แค่การตรวจรับรองแปลง แต่ทำงานให้ความรู้และการส่งเสริม ทั้งการลงตรวจแปลงและส่งเสริมการตลาดตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปถึงตัวจังหวัด ในพื้นที่ที่มีนโยบายอาหารปลอดภัยอย่างโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลก็จะเชื่อมเกษตรกรในการรับซื้อผลผลิตเข้าครัวของโรงพยาบาลและเปิดตลาดนัดสีเขียว ทำให้เกิดการทำงานอย่างต่อเนื่อง และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน”
ตลาดสีเขียว จึงเป็นหัวใจในการขับเคลื่อน โดยมีระบบรับรองมาตรฐาน PGS กินสบายใจเข้ามารองรับ เพื่อให้เกิดความสบายใจแก่ผู้บริโภค
“เนื่องจากพื้นที่ดำเนินโครงการเป็นภูมิภาคท้องถิ่น เมื่อมีผลผลิตจากเกษตรกรแล้วก็ต้องมีตลาดรองรับในพื้นที่ เพราะเกษตรกรไม่สามารถส่งผักไปจำหน่ายไกลๆ ได้ การจะส่งเสริมเรื่องการกินผักที่ปลอดภัยจะต้องมีตลาดที่นำเกษตรกรสามารถนำผลผลิตมาขายได้ เป็นผลผลิตที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน และมีผู้บริโภคมาซื้ออย่างเห็นจริงและจับต้องได้ ถ้าผลผลิตที่เกษตรกรนำมาขายหลายคันรถนั้นขายหมด ก็แสดงว่าในชุมชนมีการกินผักมากขึ้น”
การประกันราคาผลผลิต เป็นอีกกลไกหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ โดยตู้ผักกินสบายใจซึ่งเปิดให้เกษตรกรนำผลผลิตมาวางจำหน่ายเป็นสินค้าประจำของห้างสุนีย์ จะมีการประกันราคาผลผลิตในราคาที่เกษตรกรพอใจ เช่น การรับซื้อผักสลัดจากเกษตรกร 70 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ในราคา 75 บาทต่อกิโลกรัม ตลอดทั้งปี และพร้อมที่จะเพิ่มการรับผลผลิตอีกหากเกษตรกรสามารถผลิตได้
โควิด-19 เป็นอีกหมุดหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของช่องทางการจำหน่าย จากเดิมที่สินค้าวางจำหน่ายหน้าร้านรอให้ผู้บริโภคเดินเข้ามาจับจ่าย ปัจจุบันผู้บริโภคสามารถซื้อผลผลิตได้ทางร้านค้าออนไลน์ ‘กินสบายใจช็อป’ ซึ่งมีหน้าร้านอยู่ที่ห้างสุนีย์ด้วยเช่นกัน
“กินสบายใจช็อปเกิดขึ้นเพื่อช่วยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เราจึงเปิดให้ซื้อออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กกินสบายใจ และกินสบายใจช็อป มีบริการส่งเดลิเวอรี่ในรัศมี 10 กิโลเมตร รอบๆ เมืองอุบลราชธานี โดยทำงานกับบริการเดลิเวอรี่ในท้องถิ่น อย่าง Eatder, UbonHeu, Food Panda, Grab Food, Fastubon ซึ่งเป็นการทำงานรูปแบบใหม่ของเขาด้วย เพราะที่ผ่านมาเดลิเวอรี่จะส่งแค่อาหารสำเร็จรูป”
เพื่อสร้างรูปลักษณ์ที่ดึงดูด ผลผลิตของเกษตรกรจะถูกนำมาถ่ายภาพให้ดูสวยงาม และมีเรื่องราวที่บอกเล่าถึงแหล่งที่มาของอาหาร ไปจนถึงเกษตรกรผู้ผลิต เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้เส้นทางของอาหาร และสิ่งนี้ก็ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันว่า ก่อนจะนำผลผลิตมาสู่ตัวกลางเพื่อส่งต่อให้ผู้บริโภค เกษตรกรต้องคัดคุณภาพผัก ตัดแต่งให้สะอาดสวยงาม มีบรรจุภัณฑ์ที่ดึงดูดใจ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความสนใจและตัดสินใจซื้อ
คนึงนุชเล่าว่า รายได้ที่เกิดจากช่องทางออนไลน์นี้เพียงพอสำหรับค่าต้นทุนผัก และมีกำไรเหลือเล็กน้อยเพื่อจ่ายเป็นค่าบริหารจัดการและค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ส่วนพื้นที่ของร้านนั้นห้างสุนีย์สนับสนุนให้ใช้พื้นที่ฟรีโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แม้รายได้ที่เกิดขึ้นจะยังไม่เพียงพอสำหรับค่าแรงให้คนทำงาน แต่ก็นับเป็นช่องทางที่ทำให้เกษตรกรพึงพอใจ เพราะกินสบายใจช็อปรับซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดกลางร้อยละ 30 และมีราคาขายที่สูงกว่าการไปซื้อหน้าร้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะมีการสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจอย่างชัดเจนถึงเหตุผลในการตั้งราคา
ด้วยรูปแบบการทำงานที่มีการเกื้อหนุนช่วยเหลือกันของคนในพื้นที่ เช่นที่ผู้บริหารห้างสุนีย์มองเห็นความสำคัญของอาชีพเกษตรกร และต้องการให้เกษตรกรยึดการทำเกษตรอินทรีย์เป็นอาชีพและมีรายได้ที่มั่นคงนั้น ทำให้เกิดธุรกิจสีเขียวที่เป็นธรรมขึ้นในท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็เกิดการตื่นตัวขึ้นในกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ที่สนใจการทำงานในรูปแบบนี้ ซึ่งจะกลายเป็นกำลังสำคัญของในการขับเคลื่อนเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์กินสบายใจ และตลาดสีเขียวกินสบายใจ ให้เติบโตได้อย่างมั่นคงขึ้นอีกในอนาคต
ขอบคุณภาพ : เพจกินสบายใจช้อป
ที่มา : หนังสือ "รวมพลังสร้างระบบอาหารสุขภาวะอย่างยั่งยืน" ในวาระครบรอบ 20 ปี สสส.