โหนดโรงเรียน
โหนดโรงพยาบาล
โหนดผู้ผลิต-ตลาดเขียว
โหนดผู้บริโภค
กิจกรรมโครงการ
รายชื่อภาคี
“เงินทุก ๆ 1 บาทที่ สสส. ลงทุนให้โรงเรียนในโครงการเด็กไทยแก้มใสได้ทํากิจกรรมในปีที่ 1 สังคม (หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) จะได้ผลตอบแทนกลับคืนมา 1.54–2.04 บาท ในระยะเวลา 5 ปีหลังจากที่โครงการปีที่ 1 สิ้นสุดลง”
นั่นคือผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment: SROI) ที่ได้จากการลงทุนผ่านโครงการเด็กไทยแก้มใส ที่ทาง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ทำการศึกษาวิจัยภายใต้โครงการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมของโครงการเด็กไทยแก้มใสถวายเจ้าฟ้านักโภชนาการ ปีที่ 1 และเผยแพร่รายงานออกมาเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2560 โดยการศึกษาผลตอบแทนทางสังคมเป็นแนวทางหนึ่งของการประเมินงานสร้างเสริมสุขภาพทางเศรษฐศาสตร์ ที่จะช่วยให้สามารถวัดผลการเปลี่ยนแปลงและประเมินมูลค่าผลประโยชน์ของโครงการต่างๆ ได้ และทำให้สาธารณะทราบถึงความคุ้มค่าจากการดำเนินโครงการว่าสังคมจะได้รับประโยชน์มากน้อยเพียงใด
ในรายงานดังกล่าวคณะผู้วิจัยได้ระบุข้อสังเกตที่น่าสนใจจากการศึกษาผลตอบแทนทางสังคม 3 ประการ คือ ประการแรก ผลประโยชน์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากโครงการ ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับนักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งบ่งชี้ว่าโครงการได้บรรลุจุดประสงค์ในแง่ที่ทําให้ประโยชน์ตกกับกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง ประการที่สอง ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในโครงการเด็กไทยแก้มใสปีที่ 1 จํานวน 1.54–2.04 เป็นการประเมินผลตอบแทนที่เกิดจากบทบาทของ สสส. เท่านั้น แต่หากพิจารณาผลตอบแทนของโครงการที่เกิดจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดรวมกันจะมีมูลค่าสูงกว่านี้ ดังนั้น การคํานวณผลตอบแทนทางสังคมโดยคํานึงถึงเพียงผลประโยชน์ที่เกิดจากบทบาทของ สสส. อาจเป็นมาตรวัดผลตอบแทนทางสังคมที่ต่ำเกินจริง เพราะมูลค่าโดยรวมที่เกิดขึ้นจากบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มอื่น ๆ ไม่ได้ถูกนํามาคิดรวมด้วย ประการสุดท้าย ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในโครงการเด็กไทยแก้มใสปีที่ 1 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี หลังจากที่โครงการปีที่ 1 จบลง เนื่องมาจากความพยายามของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (โดยเฉพาะนักเรียนและผู้ปกครอง) ที่จะทํากิจกรรมต่อไปแม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก สสส. ก็ตาม
นอกจากรายงานผลการศึกษาดังกล่าวแล้ว ทางโครงการเด็กไทยแก้มใสยังมีการประเมินผลกระทบที่มีต่อนักเรียนในโครงการโดยมีการเก็บข้อมูลจากเด็ก ป.4 - ป.6 ใน 50 โรงเรียน ซึ่งแบ่งเป็นโรงเรียนเด็กไทยแก้มใสครึ่งหนึ่ง และโรงเรียนเปรียบเทียบครึ่งหนึ่ง ในช่วงปี 2560-2563 พบว่า นักเรียนในโรงเรียนเด็กไทยแก้มใสมีผลการประเมินที่ดีกว่าโรงเรียนเปรียบเทียบในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น การจัดหาผักผลไม้ปลอดภัย โรงเรียนเด็กไทยแก้มใสสามารถจัดหาผักผลไม้ปลอดภัยได้ครบทุกมื้อในสัดส่วนที่ดีกว่าโรงเรียนเปรียบเทียบ และความเพียงพอก็ดีกว่าโรงเรียนเปรียบเทียบในทุก ๆ ปี การใช้เวลาของนักเรียนในการทำกิจกรรมเชิงบวกและเชิงลบ สัดส่วนของนักเรียนโรงเรียนเด็กไทยแก้มใสที่ได้ทำกิจกรรมเชิงบวกสูงกว่านักเรียนในโรงเรียนเปรียบเทียบ และเด็กไทยแก้มใสใช้เวลาไปกับการทำกิจกรรมเชิงลบ เช่น การเล่นเกม น้อยกว่าโรงเรียนเปรียบเทียบ แต่ใช้เวลามากกว่าในการทำกิจกรรมเชิงบวกต่าง ๆ พฤติกรรมการบริโภคอาหารของเด็กนักเรียน เด็กในโรงเรียนเด็กไทยแก้มใสมีพฤติกรรมการบริโภคที่ดีกว่าโรงเรียนเปรียบเทียบ โดยดูจากความถี่ในการบริโภคอาหารอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ คือ ฟ้าสต์ฟู้ด ขนมหวาน ขนมกรุบกรอบ เครื่องดื่มรสหวาน สัดส่วนของเด็กในโรงเรียนเด็กไทยแก้มใสที่ได้รับประทานอาหารกลุ่มนี้จะน้อยกว่าโรงเรียนเปรียบเทียบ และสัดส่วนของผักผลไม้ที่เด็กในโรงเรียนเด็กไทยแก้มใสได้รับประทานก็มากกว่าโรงเรียนเปรียบเทียบ การควบคุมตนเอง ทักษะทางสังคม และความพึงพอใจในชีวิต ในส่วนของการควบคุมตนเอง เวลาที่เด็กโมโหเขามักจะมีพฤติกรรมอย่างไร สามารถที่จะมีระเบียบวินัย ดูแลตนเองได้มากน้อยแค่ไหน การปฏิบัติต่อบุคคลต่าง ๆ เหมาะสมหรือไม่ พบว่าเด็กในโรงเรียนเด็กไทยแก้มใสมีคะแนนการควบคุมตนเองที่ดีกว่า ในส่วนของทักษะทางสังคม ความสัมพันธ์กับบุคคลต่าง ๆ และการยอมรับจากเพื่อน ๆ พบว่าเด็กไทยแก้มใสก็ดีกว่าโรงเรียนเปรียบเทียบ และในส่วนของความพึงพอใจในชีวิต ก็พบว่าเด็กในโรงเรียนเด็กไทยแก้มใสจะดีกว่าโรงเรียนเปรียบเทียบ อย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ
กระบวนการดำเนินงาน 6 ปีที่นำไปสู่ผลตอบแทนอันคุ้มค่า
โครงการเด็กไทยแก้มใสเกิดจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับองค์กรภาคี ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และ สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ ที่ต้องการส่งเสริมและสนับสนุนโรงเรียนให้น้อมนำแนวทางการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียนอย่างครบวงจรของโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปปฏิบัติในการพัฒนาอาหารกลางวันและภาวะโภชนาการของเด็กและเยาวชนในระยะยาว
การดำเนินงานในปีแรก พ.ศ. 2557 มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 544 โรงเรียนจากทั่วประเทศ จากนั้นในช่วงปีที่ 2-4 (พ.ศ.2558-2561) ได้มีการสนับสนุนให้โรงเรียนในโครงการที่มีความพร้อมจำนวน 112 แห่ง พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบโรงเรียนเด็กไทยแก้มใส จนกระทั่งมาถึงปีที่ 5-6 (พ.ศ.2562-2564) จึงสนับสนุนกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด หรือระดับอำเภอ และโรงเรียนศูนย์เรียนรู้เด็กไทยแก้มใสเพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้เด็กไทยแก้มใสวิถีชีวิตสุขภาวะในโรงเรียนและชุมชนอย่างครบวงจร ที่เชื่อมโยงระหว่างโรงเรียน บ้าน และชุมชน ในการจัดการเกษตรปลอดภัย การวางแผนการจัดซื้อผักผลไม้เกษตรปลอดสารพิษจากชุมชน คุณภาพอาหารกลางวันในโรงเรียนทั้งด้านความปลอดภัย คุณค่าทางโภชนาการ และลดหวาน มัน เค็ม รวมทั้งการมีกิจกรรมทางกาย และการเฝ้าระวังภาวะโภชนาการ เพื่อพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพของนักเรียนโดยการมีส่วนร่วมของครอบครัว ทำให้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือการสร้างเครือข่ายเด็กไทยแก้มใส ในโครงการแหล่งเรียนรู้เด็กไทยแก้มใสวิถีชีวิตสุขภาวะในโรงเรียนและชุมชนอย่างครบวงจร ระหว่างโรงเรียนแม่ข่ายกับโรงเรียนเครือข่ายจำนวน 420 แห่ง โดยมีโรงเรียนแม่ข่าย 47 โรงเรียน จาก 26 จังหวัด และมีการขยายผลการขับเคลื่อนงานมาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
จังหวะก้าวในการขับเคลื่อนโครงการเด็กไทยแก้มใสสามารถสรุปได้เป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นช่วงของการประมวลองค์ความรู้ 8 องค์ประกอบ การพัฒนาศักยภาพทีมพี่เลี้ยง การสนับสนุนชุดความรู้ สื่อ และนวัตกรรม และการเสริมพลังภาคีเครือข่าย ระยะที่ 2 เป็นช่วงของการสนับสนุนการดำเนินงานของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ และการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ ระยะที่ 3 เป็นช่วงของการพัฒนาระบบติดตามออนไลน์ ระบบติดตามภาวะโภชนาการและจัดสำรับอาหาร การพัฒนาคู่มือการประเมินตนเองและการลงเยี่ยมโรงเรียนนต้นแบบเพื่อเสริมพลัง เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และการขยายผลศูนย์เรียนรู้เด็กไทยแก้มใสและโรงเรียนต้นแบบ
การดำเนินโครงการในโรงเรียนเด็กไทยแก้มใสเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเอง (Learning by Doing) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะและคุณลักษณะที่เหมาะสม โดยมีกรอบกิจกรรมที่กำหนดไว้ 8 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) การเกษตรในโรงเรียน 2) สหกรณ์นักเรียน 3) การจัดบริการอาหารของโรงเรียน 4) การติดตามภาวะโภชนาการ 5) การพัฒนาสุขนิสัยของนักเรียน 6) การพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนให้ถูกสุขลักษณะ 7) การจัดบริการสุขภาพ 8) การจัดการเรียนรู้: เกษตร โภชนาการ และสุขภาพอนามัย
ผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 6 ปี ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการลงทุนผ่านโครงการเด็กไทยแก้มใสให้ผลตอบแทนทางสังคมอย่างคุ้มค่า แต่ก็ยังต้องการการพัฒนาต่อ ทั้งในด้านกระบวนการขับเคลื่อนของโรงเรียนในพื้นที่ต่าง ๆ ให้มีการทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง การหาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพในการดําเนินงานและลดภาระให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การพัฒนาระบบฐานข้อมูลสําหรับการประเมินผลตอบแทนทางสังคมในอนาคตเพื่อให้มีข้อมูลตัวชี้วัดที่ต่อเนื่องและเป็นระบบ รวมไปถึงข้อมูลที่จะต้องนำไปใช้ในการขับเคลื่อนต่อ ว่าโรงเรียนในแต่ละบริบทใช้ผลผลิตทางการเกษตรจากแหล่งใดเป็นหลัก เป็นอินทรีย์หรือไม่อินทรีย์ ปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน โรงเรียนในแต่ละบริบทสามารถที่จะจัดหาผลผลิตเกษตรอินทรีย์/เกษตรปลอดภัยได้หรือไม่ มีความเพียงพอและมั่นคงเพียงใด มีปัจจัยอะไรที่ส่งผลต่อการจัดการ และโรงเรียนแบบไหนที่น่าจะมีสถานการณ์แย่ที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการจัดทำนโยบายที่จะเอื้อให้พื้นที่สามารถขับเคลื่อนงานไปได้ และได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ
ที่มา : หนังสือ "รวมพลังสร้างระบบอาหารยั่งยืน" เนื่องในวาระครบรอบ 20 ปี สสส. จัดทำโดย โครงการสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แผนอาหารฯ แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
1. รายงานโครงการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมของโครงการเด็กไทยแก้มใสถวายเจ้าฟ้านักโภชนาการ ปีที่ 1 โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) วันที่ 18 ตุลาคม 2560
2. รายงานการติดตามผลการดำเนินงานหลังลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือการสร้างเครือข่ายเด็กไทยแก้มใส โครงการแหล่งเรียนรู้เด็กไทยแก้มใสวิถีชีวิตสุขภาวะในโรงเรียนและชุมชนอย่างครบวงจร ของโรงเรียนเครือข่าย ปี 2562
3. การนำเสนอ “ผลการประเมินโครงการเด็กไทยแก้มใส ปี 2560-2563” ในการประชุมเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว วันที่ 6 สิงหาคม 2564 ทางแอปพลิเคชั่น ZOOM