โหนดโรงเรียน
โหนดโรงพยาบาล
โหนดผู้ผลิต-ตลาดเขียว
โหนดผู้บริโภค
กิจกรรมโครงการ
รายชื่อภาคี
ชุมชนบ้านห้วยหาน ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย พื้นที่ปฏิบัติการเครือข่ายของโครงการเสริมสร้างชุมชนอาหารเพื่อสุขภาวะกลุ่มชาติพันธุ์ 10 พื้นที่ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปางฯ ซึ่งมีคุณกิ่งแก้ว จันติ๊บ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยความรอบรู้ด้านอาหารผสานต้นทุนพื้นที่ของโครงการบูรณาการเพื่อหนุนเสริมยุทธศาสตร์แผนอาหารและร่วมกับภาคีเพื่อขยายผลระบบอาหารสุขภาวะ เพื่อศึกษาการบูรณาการ 3 ด้าน ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย และโภชนาการในชุมชน ผ่านเมนูอาหารพื้นบ้านอย่าง “ไก่ต้มสมุนไพร” โดยพื้นที่ชุมชนห้วยหาน หมู่ 9 สามารถประยุกต์ใช้ทุนทางธรรมชาติ ทุนทางสังคม ทุนทางศาสนาวัฒนธรรมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของชุมชน รวมทั้งให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชนเพื่อเป็นกลไกเชื่อมประสานระหว่างชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐและประชาสังคม โดยเฉพาะการนำต้นทุนทางวิถีภูมิปัญญาด้านอาหารชาติพันธุ์มาต่อยอดและเชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัญหาสังคมและสุขภาพ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคและสิ่งแวดล้อม ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยเหล่านี้ได้ปรากฎในแผนภูมิความรอบรู้ด้านอาหารบนต้นทุนพื้นที่บ้านห้วยหาน ที่โครงการได้จัดทำขึ้น
โครงสร้างการลำดับเนื้อหาโดยจำแนกกรอบคิดและขอบเขตกรอบคิดและโครงสร้างชุดข้อมูลในแผนภูมิแบ่งออกเป็น 4 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย
1) ข้อสำรวจสถานการณ์ประเด็นความรอบรู้ด้านอาหารภายใต้ 3 ขอบเขต “แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ”
a. โภชนาการที่ดี
b. ความมั่นคงทางอาหาร
c. อาหารปลอดภัย
2) ต้นทุนด้านนวัตกรรมระบบอาหารชุมชน
a. การถอดบทเรียนบนต้นทุนเดิมภายในพื้นที่
b. การขับเคลื่อนระบบอาหารสุขภาวะโดยภาคีแผนอาหาร
3) ต้นทุนความรอบรู้ด้านอาหารผ่านต้นทุนพื้นที่
a. ระดับปัจเจกบุคคล
i. ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการ
ii. ความสามารถด้านอาหาร
iii. พฤติกรรมด้านอาหาร
iv. เจตคติ
b. ระดับสังคม
i. ต้นทุนสังคม
ii. ต้นทุนทางวัฒนธรรม
iii. ต้นทุนสิ่งแวดล้อม
iv. ต้นทุนเศรษฐกิจ
4) ต้นทุนอาหารท้องถิ่น เมนูไก่ต้มสมุนไพร 3 สูตร
a. สูตรบำรุงเลือด
b. สูตรสำหรับหญิงอยู่ไฟ
c. สูตรแก้ปวดเมื่อย
โดยมีชั้นข้อมูลในแผนภูมิ 4 ชั้น ได้แก่ 1) ต้นทุนอาหารพื้นถิ่น 2) ต้นทุนความรอบรู้ด้านอาหารใน“ระดับปัจเจก”และ“ระดับสังคม 3) การหนุนเสริมหรือต้นทุนจากแผนอาหารที่ช่วยในการขับเคลื่อนงานความรอบรู้ด้านอาหารในชุมชน (Intervention) และ 4) ข้อสำรวจประเด็นความรอบรู้ด้านอาหารภายใต้ 3 ขอบเขต “แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ
ภาพแผนภูมิฯแสดงเนื้อหาสรุปด้านความรอบรู้ด้านอาหารต้นทุนพื้นที่ชุมชนบ้านห้วยหาน
แผนภูมิฯแสดงเนื้อหาสรุปด้านความรอบรู้ด้านอาหารต้นทุนพื้นที่ ชุมชนบ้านห้วยหาน รายละเอียด “ต้นทุนอาหารพื้นถิ่น” ต้มไก่สมุนไพรม้ง นำเสนอชุดข้อมูลประเด็นต้นทุนเมนูอาหารพื้นถิ่นในชุมชนบ้านห้วยหาน โดยข้อมูลจากนักวิจัยโครงการ นำเสนอข้อมูลเมนูไก่ต้มสมุนไพร 3 สูตร และข้อมูลเชิงสรรพคุณและคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นการเชื่อมโยงสรรพคุณทางสมุนไพรกับองค์ความรู้เชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์
1) ข้อมูลเมนูไก่ต้มสมุนไพร 3 สูตร
2) ข้อมูลเชิงสรรพคุณและคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นการเชื่อมโยงสรรพคุณทางสมุนไพรกับองค์ความรู้เชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์
- พริกไทย ชื่อวิทยาศาสตร์: Piper nigrum L. ชื่อภาษาม้ง : Hwjtxob
o สรรพคุณทางเภสัชวิทยา: มีสารไพเพอร์รีน สามารถช่วยกำจัดไขมันส่วนเกินเพื่อลดความอ้วนได้ นอกจากนี้ยังใช้ในการลดไข้ ลดอาการเจ็บปวด และลดอักเสบได้ดี
o คุณค่าทางโภชนาการ: มีสารอาหาร ใน พริกไทยดำ ในปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณทั้งหมด 326 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย โปรตีน 10 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 64 กรัม, ไขมัน 3.3 กรัม โซเดียม 20 มก. โพแทสเซียม 1329 มก. แคลเซียม 3 %เหล็ก 3 % แมกนีเซียม 3 %
- ผักปลัง ชื่อวิทยาศาสตร์: Basella alba L ชื่อภาษาม้ง : Hmab ntsha
o สรรพคุณทางเภสัชวิทยา: มีฤทธิ์ปกป้องเซลล์ โดยการเคลือบเนื้อเยื่อกระเพาะอาหาร และยับยั้งการหลั่งกรด ลดการอักเสบที่ผิว ลดการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิว
o คุณค่าทางโภชนาการ: ในปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณทั้งหมด 19 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย โปรตีน 1.8 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 3.4 กรัม, ไขมัน 0.3 กรัม โซเดียม 24 มก. โพแทสเซียม 510 มก. แคลเซียม 10 % เหล็ก 6 % แมกนีเซียม 16 % วิตามินซี 170 % วิตามิน บี 6 10% 326 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย โปรตีน 10 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 64 กรัม, ไขมัน 3.3 กรัม โซเดียม 20 มก. โพแทสเซียม 1329 มก. แคลเซียม 3 %เหล็ก 3 % แมกนีเซียม 3 %
- จิงจูฉ่าย ชื่อวิทยาศาสตร์: Artemisia lactiflora ชื่อภาษาม้ง : Taw os
o สรรพคุณทางเภสัชวิทยา: มีสารไลโมนีน ซิลนีน และสารกลัยโคไซด์ ที่มีชื่อว่า อะปิอิน : สารเหล่านี้มีสรรพคุณ ช่วยปรับสมดุลความดันโลหิต จึงเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาเรื่องความดัน อีกทั้งช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร และลําไส้ได้ดีด้วย ส่วนลําต้นสด และเมล็ดของต้น จิงจูฉ่าย มีโซเดียมต่ํา จึงดีต่อผู้ป่วยโรคไต
o คุณค่าทางโภชนาการ: ในปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณทั้งหมด 19 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย โปรตีน 1.8 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 3.4 กรัม, ไขมัน 0.3 กรัม โซเดียม 24 มก. โพแทสเซียม 510 มก. แคลเซียม 10 % เหล็ก 6 % แมกนีเซียม 16 % วิตามินซี 170 % วิตามิน
- ขมิ้น ชื่อวิทยาศาสตร์: Curcuma longa L. ชื่อภาษาม้ง : Qhiavdaj
o สรรพคุณทางเภสัชวิทยา: มีฤทธิ์ลดการอักเสบ
o คุณค่าทางโภชนาการ: ในปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะ (2.2 g) มีพลังงานทั้งหมด 9 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย โปรตีน 0.2 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 1.4 กรัม, ไขมัน 0.2 กรัม, ใยอาหาร 0.5 กรัม น้ำตาล 0.1 กรัม โซเดียม 1 มก. โพแทสเซียม 56 มก. วิตามินซี 1% เหล็ก 4 % แมกนีเซียม 1%
- กระชายดำ ชื่อวิทยาศาสตร์: Kaempferia parviflora Wallich ex Baker. ชื่อภาษาม้ง : Qhiav Dub
o สรรพคุณทางเภสัชวิทยา: มีฤทธิ์ต้านจุลชีพ ต้านการอักเสบเทียบได้กับยาหลายชนิด เช่น แอสไพริน อินโดเมธาซิน และเพรดนิซิโลน เช่น ฤทธิ์ต้านอักเสบ สาร 5,7 –ไดเมธอกซีฟลาโวน (5,7-DMF) ที่แยกได้จากเหง้ากระชายดํา มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ สาร 5,7,4’-trimethoxyflavone และ 5,7,3’,4’ –tetramethoxyflavone มีฤทธิ์ต่อระบบสืบพันธุ์ สารสกัดกระชายดําด้วยเอทานอล
o คุณค่าทางโภชนาการ: ในปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 80 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย โปรตีน 1.8 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 17.8 กรัม, ไขมัน 0.8 กรัม วิตามินซี 21.68 มก. /100 กรัม ฟอสฟอรัส 45.60 มก. /100 กรัม
(ภาพที่ 1) แผนภูมิฯแสดงเนื้อหาสรุปด้านความรอบรู้ด้านอาหารในส่วนของต้นทุนพื้นที่ ชุมชนบ้านห้วยหาน
(ภาพที่ 2) แผนภูมิแสดงเนื้อหาสรุปด้านความรอบรู้ด้านอาหารต้นทุนพื้นที่ด้านกระบวนการ ชุมชนบ้านห้วยหาน
(ภาพที่ 3) แผนภูมิฯแสดงความรอบรู้ด้านอาหาร 3 กลุ่ม ตามกรอบของแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส.
แผนภูมิแสดงต้นทุนพื้นที่
1) ต้นทุนพื้นที่ระดับสังคม
ต้นทุนระดับสังคมของบ้านห้วยหานคือ คน ศรัทธา ภูมิปัญญา และพื้นที่ ที่สะท้อนผ่านวิถีการกิน
- ต้นทุนทางสังคม
o ปราชญ์ผู้รู้สมุนไพร ผู้ส่งต่อองค์ความรู้ภูมิปัญญาด้านสมุนไพรและประสบการณ์การใช้จริง แก่คนรุ่นหลังในชุมชน
o ผู้นำชุมชน เอื้ออำนวยให้เกิดพื้นที่ในการเรียนรู้เรื่องอาหารเป็นยา
o กลุ่มแม่บ้าน ผู้ขับเคลื่อนและถ่ายทอดองค์ความรู้วิถีการกิน จากระดับครัวเรือนสู่ลูกหลาน
o อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ผู้สื่อสารประเด็นทางด้านสุขภาพกับชุมชนโดยประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาชาติพันธุ์กับองค์ความรู้วิทยาศาสตร์
- ต้นทุนทางวัฒนธรรม
บ้านห้วยหาน มีองค์กรศาสนาที่มีความสัมพันธ์บนฐานความเชื่อและจารีตประเพณีอันเป็นข้อตกลงร่วมกัน เช่น การส่งเสริมวิถีการผลิตแบบพึ่งพาตนเองและตระหนักถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมผ่านประเพณีกินข้าวใหม่ หรือการจัดตั้งพลเมืองอาหารชุมชนพึ่งพาตนเอง
- ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม
ชุมชนยังคงมีทรัพยากรของคนให้ดำรงอยู่ เช่น ป่าชุมชนพื้นที่ผลิตอาหารปลอดภัยในชุมชน ที่สามารถเก็บเกี่ยวตามฤดูกาลเป็นความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเคารพธรรมชาติ
- ต้นทุนทางเศรษฐกิจ: ชุมชนยังคงขาดแคลนต้นทุนทางเศรษฐกิจ
คนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งเริ่มทำงานนอกชุมชน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจบีบบังคับ เกิดเป็นคำถามว่า จะทำอย่างไรให้พวกเขาสามารถสร้างรายได้บนฐานทรัพยากรและต้นทุนของชุมชน
2) ต้นทุนพื้นที่ระดับปัจเจก
ทุกคนในชุมชนมีความรู้ด้านอาหารที่มีพื้นฐานจากภูมิปัญญาชาติพันธุ์
- ความรอบรู้ด้านอาหารและโภชนาการ
ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพร เช่น ความรู้เรื่องสมุนไพรตามฤดูกาลหรือความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา ใช้ความรู้เกี่ยวกับรสชาติพืชท้องถิ่นเพื่อนำมาปรุงรสหรือประกอบอาหาร
- ความสามารถด้านอาหาร
o ธนาคารเมล็ดพันธุ์ ; องค์ความรู้การอนุรักษ์ผักพื้นบ้าน
o ให้ปรุงเมนูอาหารจากพืชท้องถิ่นแทนสารปรุงรส
o วิธีการเก็บพืชอาหารบางชนิดที่อยู่ในพื้นที่ป่าไม่ให้สูญพันธุ์
- พฤติกรรมด้านอาหาร
o วิถีการกินอาหารที่มีรสจืด รสอ่อน รสจาง และใส่เครื่องปรุงให้น้อย
o การกินผักตามฤดูกาล และปลอดสารพิษ
o การกินอย่างรู้ที่มา เช่น เนื้อสัตว์ที่มาจากการเลี้ยงเอง หรือผักที่ปลูกเอง
o วิถีการกิน เพื่อรักษาพืชอาหารท้องถิ่นไม่ให้สูญพันธุ์
- ทัศนคติ / เจตคติ
ต้นทุนด้านทัศนคติ/ เจตคติของชุมชนบ้านห้วยหาน เกิดจากความเชื่อมั่นในประสบการณ์การใช้จริงของบุคคลทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชน
แผนภูมิแสดงกระบวนการหนุนเสริม
1) ระดับต้นทุน
- เกิดกลไกการเป็นผู้แทนและต่อรองให้กลุ่มชาติพันธุ์
การต่อรองระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อประโยชน์กับชุมชน ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม ทำให้เกิดกลไกการเป็นผู้แทนในประเด็นทีเกี่ยวกับปัญหาหรือเรื่องร้องเรียน
- เครือข่ายภายในชุมชน
ความไว้วางใจจากชุมชนในเรื่องการคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ก่อให้เกิดต้นทุนเครือข่ายความร่วมมือภายในชุมชนที่สามารถทำงานท่ามกลางความซับซ้อนของปัญหาได้
- กลไกบริการด้านสาธารณสุขที่เชื่อมโยงกับ สปสช
กลไกการบริการด้านสาธารณสุขที่เชื่อมโยงกับสปสช.โดยมี คุณกิ่งแก้ว ทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงและสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน และหน่วยงานภาครัฐ
- กระบวนการหนุนเสริมชุมชน
กระบวนการที่ทำให้เห็นศักยภาพของชุมชนผ่านการถอดบทเรียนองค์ความรู้ และเกิดการรวมกลุ่มทำงานเพื่อสื่อสารถึงคุณค่าของต้นทุนต่างๆของชุมชน
2) ระดับแผนอาหารสุขภาวะ
- ทำเนียบเมล็ดพันธุ์ฐานข้อมูลชุมชน
กระบวนการทำงานด้านเมล็ดพันธุ์เพื่อนฟื้นฟูภูมิปัญญาชาติพันธุ์และสร้างคนทำงานในพื้นที่ผ่าน
การจัดทำฐานข้อมูลทำเนียบเมล็ดพันธุ์ ทำให้เห็นถึงต้นทุนของชุมชนและสร้างการรวมกลุ่ม
ทำงานที่เข้มแข็ง
- การพัฒนาองค์ความรู้ด้วยกระบวนการแนวคิดเกษตรธรรมชาติของ MOA (Mokichi Okada Association)
คนในชุมชนได้รับการพัฒนาองค์ความรู้จากภาคีเครือข่ายด้วยกระบวนการแนวคิดการเพาะปลูก
เลียนแบบปรากฏการณ์ธรมมชาติของ MOA (Mokichi Okada Association) อันประกอบด้วย
3 แนวคิด
o โลกนั้นมีชีวิต: เกษตรที่ปลูกล้อตามธรรมชาติย่อมได้ผลผลิตดี
o เกษตรธรรมชาติเน้นความสมดุล: หากทำเกษตรตามสมดุลของธรรมชาติ ผลผลิตก็จะสมดุลตามธรรมชาติ
o หลักการชำระล้างตามกฎของธรรมชาติ: หากเกิดความไม่สมดุลในพื้นที่ต้องทำให้พื้นที่กลับเข้าสู่ภาวะสมดุล
แผนภูมิความรอบรู้ด้านอาหาร 3 กลุ่มตามกรอบของแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส.
1) โภชนาการที่ดี (Nutrition)
โภชนาการที่ดีของชุมชนบ้านห้วยหานคือ “องค์ความรู้การกินอาหารเป็นยา” เนื่องจากมีฐานภูมิปัญญากลุ่มชาติพันธุ์ชาวม้งที่เช้าใจในสรรพคุณสมุนไพร และมีการส่งต่อองค์ความรู้ในชุมชนได้เรียนรู้ร่วมกัน ส่งผลต่อการมีพฤติกรรมบริโภคอาหารที่ดีและสมดุลบนฐานของภูมิปัญญาดั้งเดิม
- สิ่งที่มี: มีองค์ความรู้การกินอาหารเป็นยา
- สิ่งที่ขาด: พฤติกรรมการกิน/ ปรุงแบบใหม่ ไม่ส่งเสริมการเกิดโภชนาการที่ดี
2) อาหารปลอดภัย (Food Safety)
อาหารปลอดภัยของชุมชนบ้านห้วยหาน คือ การที่ชุมชนมีวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการปรุงและเป็นส่วนประกอบในอาหารที่ปลอดสารเคมีและรู้ที่มาของการผลิต
- สิ่งที่มี: สมุนไพรและวัตถุดิบ ที่นำมาใช้ในการปรุง ปลอดสารเคมี
- สิ่งที่ขาด: การปลูกพืชเศรษฐกิจและใช้สารเคมี
3) ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)
ความมั่นคงทางอาหารของชุมชนบ้านห้วยหาน คือ การที่ชุมชนยังคงมีทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตของคนในชุมชนให้ดำรงอยู่ได้ เช่น ป่าชุมชนสมุนไพรในพื้นที่ป่า และแหล่งผลิตที่ปรับเปลี่ยนได้ตามฤดูกาลในระดับครัวเรือน
- สิ่งที่มี: ใช้สมุนไพรและผักหลากหลายฤดูกาลจากแปลงผักในสวน
- สิ่งที่ขาด: ปัญหาความมั่นคงเรื่องที่ดินทำกินและพืชท้องถิ่นเสี่ยงสูญพันธุ์
ข้อมูลจากแผนภูมิทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า "เมนูไก่ต้มสมุนไพร" เป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงต้นทุนพื้นที่ในระดับปัจเจกบุคคลที่แต่ละบุคคลสามารถเรียนรู้ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการ ความสามารถด้านอาหาร พฤติกรรมการบริโภคอาหาร และเจตคติที่ตั้งอยู่บนฐานภูมิปัญญากลุ่มชาติพันธุ์ได้ภายใต้ต้นทุนพื้นที่ในระดับสังคมที่เข้มแข็ง อันประกอบด้วย (1) ต้นทุนทางสังคม ที่เข็มแข็งด้วยการมีผู้นำชุมชนที่สนับสนุนพื้นที่ในการสื่อสารและถ่ายทอดองค์ความรู้ กลุ่มปราชญ์สมุนไพรในฐานะผู้ให้ข้อมูล ที่ปรึกษา ตลอดจนการร่วมกันอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์พืชพื้นบ้านและปลูกกินในครัวเรือนร่วมกับกลุ่มแม่บ้านในชุมชน รวมถึงกลุ่มอาสาสมัครที่สื่อสารข้อมูลความรู้สุขภาวะภายในชุมชน (2) ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ในการมีฐานทรัพยากรธรรมชาติที่ยังคงเป็นแหล่งอาหารในชุมชน และ (3) ต้นทุนทางวัฒนธรรม ภายใต้การมีองค์กรศาสนาสนับสนุนการจัดตั้งพลเมืองอาหารชุมชนพึ่งพาตนเอง และธนาคารอาหารชุมชน แต่อย่างไรก็ดีการสร้างความรอบรู้ด้านอาหารของชุมชนบ้านห้วยหานเองก็ยังคงมีปัญหาที่เป็นความท้าทายต่อการสร้างความรอบรู้ด้านอาหารต่อคนในชุมชนในด้านเศรษฐกิจ และมีความพยายามที่จะประสานกับองค์องค์ความรู้การกินแบบสมัยใหม่เพื่อสร้างรากฐานองค์ความรู้ภูมิปัญญาจากพื้นที่ให้มีความน่าเชื่อถือ และถูกต้องไว้สำหรับสื่อสารในการสืบสานและถ่ายทอดต่อให้กับคนรุ่นใหม่ในชุมชนได้เรียนรู้ได้อย่างมั่นคงอันเป็นโจทย์สำคัญที่จะช่วยรื้อฟื้นแนวทางการใช้ต้นทุนพื้นที่ผ่านเมนูอาหาร “ไก่ต้มสมุนไพร” ในการสร้างความรอบรู้ด้านอาหารต่อคนในชุมชนให้เรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรู้เท่าทันต่อความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ “กรอบและต้นทุนความรอบรู้ด้านอาหาร” จากการศึกษาในครั้งนี้ ยังสามารถสะท้อนความสอดคล้องของการดำเนินงานความมั่นคงทางอาหารที่ผสานกับวัฒนธรรมอาหารและภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่ และภาคีแผนอาหารที่ทำงานขับเคลื่อนประเด็นอาหารปลอดภัยที่นำไปสู่การทำให้ชุมชนตระหนักถึงของดีที่มีอยู่ เกิดความภาคภูมิใจ ต่อยอดขยายเป็นอาชีพที่มั่นคงและนำมาสู่การไม่ละทิ้งท้องถิ่น ซึ่งผู้ที่มีความสนใจศึกษาด้านความรอบรู้ด้านอาหารฯ ยังสามารถใช้กรอบคิดโครงการและโครงสร้างต้นแบบของแผนภูมิเพื่อการสำรวจแสวงหาต้นทุนพื้นที่ให้กับสังคมตามบริบทในแต่ละชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา : รายงานฉบับสมบูรณ์ "การศึกษาความรอบรู้ด้านอาหารผสานต้นทุนพื้นที่" โครงการบูรณาการเพื่อหนุนเสริมยุทธศาสตร์แผนอาหารฯ